วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

NEC4-2552 ณ. มหาวิทยาลัยบูรพา








หลักการและวัตถุประสงค์ของโครงการ
ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่มีการศึกษาสูงมักมุ่งประกอบอาชีพรับเงินเดือนเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง ในขณะที่ผู้ที่มีการศึกษาไม่สูงนักมักประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งมักจะมีพื้นฐานความรู้ไม่เพียงพอที่จะบริหารจัดการและพัฒนากิจการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ภายใต้ระบบการค้าเสรียุคใหม่ และในยุคที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ กลยุทธ์ใหม่ในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs ไทยจึงต้องมุ่งสนับสนุนผู้ที่มีการศึกษาดี มีความรู้ ความสามารถ ให้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่จึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขึ้นในระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเติบโตและมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการ “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” (New Entrepreneurs Creation) หรือโครงการ NEC เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลข้างต้น โดยนำประสบการณ์จากการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ มาบูรณาการกับกิจกรรมสนับสนุนอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการสนับสนุน “ผู้ประกอบใหม่” ให้สามารถก่อตั้งกิจการได้สำเร็จและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งจ้างงานและสร้างรายได้แก่ประเทศต่อไป

โครงการ NEC มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1) เพื่อสนับสนุนบัณฑิตใหม่ พนักงานลูกจ้าง ผู้ถูกออกจากงาน และผู้ว่างงานที่มีพื้นฐานการศึกษาดี
และมีศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการ ให้มีโอกาสสร้างธุรกิจของตนเอง
2) เพื่อผลักดันให้เกิดวิสาหกิจใหม่ ๆ เป็นแหล่งจ้างงานในระบบเศรษฐกิจของไทย
3) เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งแก่วิสาหกิจขนาดเล็กในช่วงก่อตั้งกิจการ (2ปีแรก) ให้สามารถอยู่รอด และรักษาสถานภาพการจ้างงานไว้ได้
4) เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ “ทายาทธุรกิจ” ในการสืบทอดกิจการ ให้สามารถดำเนินกิจการต่อเนื่องไปได้ด้วยดี รักษาสภาพการจ้างงาน และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

ข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ อาจจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
(1) ผู้ที่ต้องการจัดตั้งธุรกิจของตนเองเป็นครั้งแรก และไม่เคยมีประสบการณ์ในฐานะเจ้าของ (หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ) ในธุรกิจใดมาก่อน
(2) ผู้ที่เป็นทายาทธุรกิจ กล่าวคือ ได้รับการวางตัวหรือคาดหวังให้สืบทอดกิจการของครอบครัว และต้องการเตรียมความพร้อมในการที่ก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของกิจการต่อไปในอนาคต
(3) ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนผู้จัดการในธุรกิจซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น กล่าวคือ จัดตั้งมาเป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี และต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกิจการ เพื่อให้อยู่รอดได้ต่อไป